พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
ซึ่งในครั้งนี้ Sanook! เราก็ได้รวบรวมเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาฝากเพื่อนๆ กัน
ริ้วขบวนพระราชพิธี
ในพระราชพิธีอย่างเป็นทางการจะมี ๓ ริ้วขบวน ดังนี้
ริ้วขบวนที่ ๑
อัญเชิญพระสุพรรณบัฏ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล และดวงตราพระราชสมภพ จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๓ พฤษภาคม โดยใช้กำลังพลทั้งหมด ๑๓๓ นาย
ริ้วขบวนที่ ๒
เป็นริ้วขบวนเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน มายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก และถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิที่ปราสาทพระเทพบิดร ในวันที่ ๔ พฤษภาคม โดยใช้กำลังพลทั้งหมด ๒๓๔ นาย
ริ้วขบวนที่ ๓
เป็นริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร วันที่ ๕ พฤษภาคม โดยใช้กำลังพลทั้งหมด ๑,๓๖๘ นาย
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธี
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ประกอบด้วยอักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง ฟื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณอักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์
ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม
อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่
พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล อยู่เบื้องบนพระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแสจามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง
พระมหาพิชัยมงกฎ หมายถึง ทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน พระแสงขรรค์ชัยศรีหมายถึงทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากภยันตราย
ธารพระกร หมายถึง ทรงดำรงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง
พระแส้จามรีกับพัดวาลวิชนี หมายถึง ทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์
ฉลองพระบาทเชิงงอน หมายถึง ทรงทำนุบำรุงปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร
เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ
เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒" ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อนประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, พระวาลวีชนี และ ฉลองพระบาท
พระมหาพิชัยมงกุฎ
เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง ๖๖ เซนติเมตร น้ำหนัก ๗๓๐๐ กรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่ ๑ ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดีย นำมาประดับยอดมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานเพชรเม็ดนี้ว่า “พระมหาวิเชียรมณี” เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๔ เซนติเมตร
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และ นครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
พระแสงองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว ๖๔.๕ ซ.ม. ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ ยาว ๒๕.๔ ซ.ม. สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ ซ.ม. หนัก ๑๙๐๐ กรัม
ธารพระกร
เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า “ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล" ธารพระกรองค์นี้สร้างขึ้นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แต่รัชกาลที่ ๑
พระวาลวีชนี
ของเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า พัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามก็ทำด้วยทองคำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” นั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า “วาลวิชนี ”
ฉลองพระบาท
เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก ๖๕๐ กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น